ทฤษฎีพัฒนาการ Erikson

        ทฤษฎีจิตสังคม (Psychosocial Theory of Personality) ผู้ให้กำเนิดทฤษฎี คือ Erik Homburger Erikson  มีรายละเอียดทฤษฎีดังนี้
        1. ระบบโครงสร้างของบุคลิกภาพ ( ซึ่ง Freud เน้นการทำงานของ id  พัฒนาการมนุษย์โดยใช้ขั้นพัฒนาการทางเพศภายใต้การทำงานของพลังเพศ)  แต่ทฤษฎีของ Erikson เน้นการวิเคราะห์ ego ว่ามีความสำคัญเป็นพลังที่ทำให้มนุษย์เกิดพัฒนาการของชีวิต  ยังทำให้เกิดระบบความคิดที่แสดงความเป็นปัจเจกบุคคล เขาเชื่อว่าการศึกษาพัฒนาการของชีวิตนับตั้งแต่เกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับบุคคลนั้นด้วย
        2.  แบบพิมพ์ทางสังคม (social matrix) Erikson กล่าวว่า แบบพิมพ์ทางสังคม คือความสัมพันธ์ของบุคคลกับผู้เลี้ยงดูและบุคคลภายนอกครอบครัว ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมภายนอกของบุคคลด้วย
        3. บุคคลมีความสนใจที่จะพัฒนาตนเองเพื่อความอยู่รอดของชีวิต บุคคลและสังคมต่างๆ ก็สามารถอยู่ร่วมกันและมีความต้องการที่จะเจริญก้าวหน้า การพัฒนาตนเองจึงขึ้นอยู่กับโอกาส

แนวความคิดของ Freud มีข้อตกลงกับทฤษฎี Erikson ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
        1. วิธีการสร้างทฤษฎี (Approach to Theory Formation)Eriksonยอมรับในวิธีการและเทคนิคในการเก็บรวบรวมข้อมูลของทฤษฎีจิตวิเคราะห์โดยวิธีสังเกตให้ความสนใจเป็นพิเศษกับความสำคัญของจิตไร้สำนึก (unconscious) และจิตใกล้สำนึก (preconscious) การเข้าใจบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลซึ่งแสดงออกมาอย่างไม่รู้ตัวและเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตประจำวัน การเข้าใจบุคลิกภาพที่เบี่ยงเบนออกไปจากปกติ
        2. แบบแผนชีวิต (Order of Human Life) Eriksonกล่าวว่า"บุคลิกภาพกับความสมดุลของสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน" ให้ความคิดเห็นว่าการมองเห็นคุณค่าและคุณธรรมต่างๆ ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของการเจริญเติบโตและความต้องการที่จะพัฒนาตนเอง 
        3. คุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ (Basic Human Values)คุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ทฤษฏีนี้เน้นถึงความสามารถสร้างสรรค์และความสามารถในการปรับตัวเขายอมรับในความสามารถของแต่ละคนที่สามารถฟันฝ่าชีวิตอยู่ได้ ด้วยความสามารถและความเป็นตัวของตัวเอง Erikson ไม่ได้มองว่าคนดีหรือเลวแต่บุคคลมีศักยภาพที่จะทำในสิ่งที่ดีหรือเลวได้เท่าๆ กัน
        4. สาเหตุพฤติกรรมมนุษย์ (Etilology of Human Bahavior)Eriksonยอมรับในแบบแผนพัฒนาการทางจิตเพศ (psychosexual) ของ Freudซึ่งมีความเห็นว่าการที่บุคคลจะแสดงพฤติกรรมใดนั้นก็เนื่องจากพลังที่เรียกว่าแรงขับซึ่งมีมาแต่กำเนิดจะเกิดจากจากสัญชาตญาณ (instincts) และทำหน้าที่เป็นแรงจูงใจ แสดงออกมาร่วมกันเรียกว่าพลังเพศ (libido)แสดงออกเป็นพฤติกรรมสำคัญ 2 ลักษณะ คือ
        -  เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด พลังนี้แสดงออกเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด
        -  เพื่อการทำลาย พลังนี้จะแสดงออกโดยพฤติกรรมต่างๆ ที่เป็นการทำลาย เช่น ความก้าวร้าว
        5. แกนการทำหน้าที่ของมนุษย์ (Core of Human Functioning) Erikson มีความคิดเห็นเช่นเดียวกับ Freud ว่าอารมณ์ทำหน้าที่ทุกกระบวนการของมนุษย์ ธรรมชาติของอารมณ์พิจารณาได้จากคุณภาพความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น สภาพทางอารมณ์ต่างๆ ที่แสดงออกมาในรูปของความคิด การกระทำความรู้สึก
        6. ทารกแรกเกิด (The newborn)
ทารกแรกเกิดย่อมได้ปะทะกับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่แตกต่างไปจากสิ่งแวดล้อมภายในครรภ์และเริ่มต้นที่จะมีบุคลิกภาพเป็นของเขาเองในระยะทารกสิ่งแรกที่เขาจะได้รับคือบทบาททางเพศทั้งเพศชายและเพศหญิงจะได้รับประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน
        7. สิ่งแวดล้อม (Environments) ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางกาย (Physical) สังคม (Social) วัฒนธรรม (Culture) และความคิด (Ideational) สิ่งแวดล้อมเหล่านี้มีอิทธิพลสำคัญต่อการวางรูปแบบการพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคล เพราะการปฏิบัติต่อกันของบุคคลในสังคม เช่น การอบรมสั่งสอน การฝึกหัด และการพยายามให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพของตนเองเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ

พัฒนาการของบุคลิกภาพ
          ขั้นพัฒนาการ 8 ขั้นของ Erikson นั้น 5 ขั้นแรกจะอยู่ในช่วงวัยทารก วัยเด็กและวัยรุ่น  ซึ่งเขาให้ความสนใจมากกว่า 3 ขั้นสุดท้ายซึ่งอยู่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ พัฒนาการ 8 ขั้นของชีวิต ตามแนวความคิดของ Erikson พัฒนาการทั้ง 8 ขั้น เรียงลำดับดังต่อไปนี้
        1.พื้นฐานความไว้วางใจและไม่ไว้วางใจ 0-18 เดือน  Erikson ได้อธิบายถึงธรรมชาติของพัฒนาการในระยะนี้ว่าเมื่อทารกคลอดจากครรภ์มาสู่สิ่งแวดล้อมใหม่จะมีความต้องการ 2 ประการเกิดขึ้น คือ ความต้องการทางกาย คือ ต้องการอาหาร ความอบอุ่นทางร่างกาย  การได้รับความรัก ความรู้สึกอบอุ่นมั่นคงที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น  
        2. ขั้นพัฒนาการความรู้สึกเป็นอิสระ ซึ่งตรงข้ามกับความรู้สึกไม่แน่ใจและความละอาย - การรับรู้ในความสามารถ พัฒนาการขั้นนี้อายุ 1 - 3 ขวบ ในขั้นนี้เป็นระยะที่เด็กกำลังเติบโตมากขึ้นสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันก็ยังมีความรู้สึกลังเลไม่แน่ใจในความสามารถและอิสระของเขา ความไม่แน่ใจนี้จะส่งผลต่อตัวเองและทำให้ต้องคอยพึ่งพาอาศัยคนอื่นเสมอ
         3. ขั้นพัฒนาการความรู้สึกของความคิดริเริ่ม ซึ่งทำให้ผ่านพ้นความรู้สึกผิด-การตั้งจุดมุ่งหมาย  ขั้นนี้อายุ 3 - 5 ปี เด็กวัยนี้มีความสามารถและช่วยตัวเองได้มากขึ้นมี ความคิดริ่เริ่มสร้างสรรค์เมื่อได้ทำกิจกรรม และ สิ่งแวดล้อมมีส่วนผลักดันให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ เช่น ของเล่น สัตว์เลี้ยง รวมถึงญาติพี่น้องด้วย เด็กวัยนี้ชอบพูดและตั้งคำถามาก เด็กช่างซักช่างถาม ช่างสงสัยและจินตนาการความคิดต่างๆ       
        4.ขั้นพัฒนาการความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและขจัดความรู้สึกเป็นปมด้อย-ความสามารถเกิดขึ้น  ขั้นนี้อยู่ในช่วงอายุอายุ 6 - 12 ปี ช่วงวัยเด็กตอนปลายเป็นระยะที่เด็กมีความเจริญเติบโตและมีความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากขึ้น การเสาะแสวงหาสิ่งต่างๆ  ทำให้เด็กมีประสบการณ์ใหม่ๆ 
        5. ขั้นพัฒนาการความรู้สึกในความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองและผ่านพ้นความรู้สึกสับสนในตนเองไปได้ - รับรู้ตามความจริง ในขั้นนี้อยู่ในช่วงอายุ 13-17ปี  การเข้าใจในเอกลักษณ์ของตนเองช่วยให้เด็กวัยรุ่นเกิดความเข้าใจในปัญหาต่างๆ และช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคต เช่น การเลือกอาชีพ การเลือกคู่ครอง เป็นต้น ความรับผิดชอบถือว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญมีรากฐานมาจากการอบรมของพ่อแม่และความรู้สึกไว้วางใจและความมั่นใจในตนเอง ในวัยนี้เด็กวัยรุ่นจะเกิดความคิดสงสัยในตัวเอง เช่น เกิดปัญหาถามตนเองว่า "ฉันคือใคร?" หรือ "ฉันจะทำอะไรดี?" เป็นระยะที่มีความรู้สึกสับสน ขาดความมั่นใจเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเพื่อเตรียมเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
        6.  ขั้นพัฒนาการความรู้สึกสัมพันธภาพและเป็นมิตรกับบุคคลอื่นโดยเฉพาะเพื่อนต่างเพศและหลีกเลี่ยงความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง ขั้นนี้อยู่ในช่วงอายุ 18 - 21 ปี หลังจากผ่านขั้นที่ 5 มาแล้ว สามารถหาเอกลักษณ์ของตนได้ รู้ว่าตนเองคือใคร มีความเชื่ออย่างไร ต้องการอะไรในชีวิต จะเกิดความรู้สึกต้องการมีเพื่อนสนิทที่จะรับรู้รับฟังสิ่งต่างๆ ที่ตนเองมีอยู่ ต้องการแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนมีอยู่กับผู้อื่น ความรู้สึกผูกพันและรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง
        7.  ขั้นพัฒนาการความรู้สึกที่จะเป็นผู้ให้กำเนิดและสร้างสรรค์สังคมและหลีกเลี่ยงความรู้สึกที่คำนึงถึงแต่ตนเอง -  การเอาใจใส่ดูแลเกิดขึ้น  ขั้นนี้อยู่ในช่วงอายุ 22 - 40 ปี วัยกลางคนเป็นวัยที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม  มีความต้องการอย่างไรในชีวิตตลอดจนสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น และเมื่อมาถึงขั้นนี้ก็พร้อมที่จะทำประโยชน์ให้แก่สังคมมีความรู้สึกต้องการมีบุตรสืบไปภายหน้า
        8. ขั้นพัฒนาการความรู้สึกมั่นคงสมบูรณ์ในชีวิตและหลีกเลี่ยงความรู้สึกสิ้นหวังท้อถอยในชีวิต - รู้จักชีวิตขั้นนี้อยู่ในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป พัฒนาการในขั้นสุดท้ายนี้มีพื้นฐานมาจากการปรับตัวในขั้นแรกๆ ของชีวิต วัยนี้จะมีการปรับตัวแสวงหาความอบอุ่นมั่นคงภายในจิตใจ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเขาปรับตัวในขั้นต่างๆ ที่ผ่านมาไม่ได้จะเกิดความรู้สึกท้อแท้และเหนื่อยหน่ายต่อชีวิตของตัวเอง วัยชราเป็นวัยสุดท้ายของชีวิต บุคคลควรมีความพึงพอใจในชีวิต รู้จักหาความสุข ความสงบในจิตใจ พอใจกับการมีชีวิตของตนในวัยชราไม่รู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านมา สามารถยอมรับสภาพความจริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น